โดย สนธยา แก้วขำ
ขณะผมนั่งปั่นต้นฉบับเรื่องราวที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ ผมอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อรายงานข่าวสถานการณ์ซึ่งหลายหน่วยงานกำลังเร่งแก้ปัญหาการบุกรุกครอบครองพื้นที่สาธารณะทางทะเลอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานีกว่า 2 แสนไร่ จนส่งผลกระทบทำให้ชาวประมงพื้นบ้านขาดแคลนที่ทำกินทางทะเล ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญในการดำรงชีวิต เมื่อชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรในการดำรงชีวิตได้
พวกเขาก็มีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากยากจน กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ปรากฎชัดเจนมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย อาทิ บ้านเรือนของชาวประมงพื้นบ้านบางครอบครัวในตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน แทบจะเรียกได้ว่ากระต๊อบดี ๆ นี่เอง อยู่กันอย่างแออัด ในพื้นที่ซึ่งหน่วยงานรัฐอนุญาตให้อยู่อาศัยแต่ไม่มีสิทธิ์ครอบครองที่ดิน บ้านของชาวประมงพื้นบ้านบางหลังปลูกสร้างอย่างเรียบง่าย เสาไม้สี่เสาหลังคามุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ มูลค่าการก่อสร้างไม่กี่พันบาท สิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้านแทบจะไม่มี ที่สำคัญแม้แต่ระบบน้ำประปายังเข้าไม่ถึง ต้องซื้อน้ำมาดื่ม ส่วนน้ำใช้เด็ก ๆ ต้องอาศัยอาบน้ำจากลำคลอง นี่คือคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านบางส่วน ซึ่งแตกต่างราวฟ้ากับเหวกับผู้ประกอบเลี้ยงหอยบางคน ซึ่งบุกรุกที่สาธารณะทางทะเล โดยพบว่าขนำเฝ้าคอกหอยบางหลังมีมูลค่าก่อสร้างมากกว่า 3 ล้านบาท มีการปลูกสร้างขึ้นหลายชั้นตกแต่งด้วยไม้เนื้อแข็งอย่างดี มีระเบียงตากอากาศตกแต่งอย่างสวยงาม ภายในมีห้องพักมากถึง 5 ห้อง มีห้องน้ำอย่างดี และมีไฟฟ้าใช้ซึ่งผลิตมาจากระบบโซลาร์เซลล์

โดยเบื้องหลังของขนำเฝ้าคอกหอยบุกรุกที่สาธารณะทางทะเลนั้นพบว่า มีผู้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มีหลายฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐที่อิงแอบผลประโยชน์กันจนทำให้การบุกรุกพื้นที่สาธารณะทางทะเลบานปลายถูกบุกรุกครอบครองโดยกลุ่มคนไม่กี่รายกว่า 2 แสนไร่ ซึ่งล่าสุดหลายหน่วยงานก็พยายามที่จะแก้ปัญหาความผิดพลาดเหล่านี้อยู่ แต่คาดว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเนื่องจากปัญหามีการหมักหมมมานานกว่า 10 ปี
ผมอารัมภบทเกี่ยวกับปัญหาอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานีมาค่อนข้างยืดยาว เพื่อจะบอกว่าอ่าวบ้านดอนนั้นเป็นพื้นที่ซึ่งมีความหลากทางระบบนิเวศสูงมาก โดยคณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้อ่าวบ้านดอนซึ่งมีพื้นที่ 4 แสนไร่ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีความสำคัญระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งอ่าวบ้านดอนได้ให้นิเวศบริการแก่สังคมมนุษย์อย่างมหาศาลนัก ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันดูแล และใช้ประโยชน์อ่าวบ้านดอนอย่างยั่งยืน
แต่จากการที่ผมได้เกาะติดรายงานข่าวสถานการณ์อ่าวบ้านดอนมากว่า 5 ปีพบว่าการใช้ทรัพยากรรอบอ่าวบ้านดอน ในแต่ละปีแต่ละเดือนนั้นตอบสนองความต้องการของมนุษย์จนแทบจะเกินขีดจำกัดของธรรมชาติที่จะสนองตอบได้แล้ว จึงเริ่มมีกระแสให้ร่วมกันดูแลและใช้ประโยชน์อ่าวบ้านดอนอย่างยั่งยืน ตามแผนที่ประเทศไทยจากอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงมาทางใต้อีก 230 กิโลเมตร ก็เป็นที่ตั้งของพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ซึ่งอยู่ในพื้นที่เชื่อมต่อ 3 จังหวัดของภาคใต้ คือ พัทลุง สงขลาและจังหวัดนครศรีธรรมราช
พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยนั้น ระบบนิเวศมีความหลากหลายเป็นอย่างมากไม่แตกต่างกับพื้นที่ชุ่มน้ำอ่าวบ้านดอน โดยพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยนอกจากมีความหลากหลายของระบบนิเวศแล้ว ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติสูงมาก และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ที่ผู้คนรอบพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ได้ใช้เป็นฐานทรัพยากรในการดำรงชีวิตมาหลายชั่วอายุคนเช่นกัน
ผมรู้จักและสัมผัสความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยมาตั้งแต่วัยเด็กเนื่องจากมีภูมิลำเนาบ้านเกิดอยู่ในจังหวัดพัทลุง ในวัยเด็กผมไม่ได้ตั้งคำถามว่าความอุดมสมบูรณ์ที่หล่อเลี้ยงผู้คนรอบพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยนั้นมาจากไหน หรือแม้กระทั่งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังไม่ได้ตั้งคำถามเช่นกันว่าทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เหล่านี้จะรองรับความต้องการของผู้คนได้อีกนานเท่าไร และคิดว่าผู้คนอีกส่วนมากอาจจะยังไม่ได้คิดเช่นกัน คำถามเหล่านี้ผุดขึ้นในหัวของผมมาเกือบ 20 ปีแล้ว หลังผมลงพื้นที่รายงานข่าวความเป็นไปของพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ทั้งสถานการณ์ไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ซึ่งเกิดขึ้นแทบจะทุกปี แล้วแต่ว่าปีไหนจะไหม้มากน้อยเพียงไร การบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าพรุรอบพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยเพื่อครอบครองนำมาปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว
การรายงานข่าวความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยโดยเฉพาะการทำรังวางไข่ของนกประจำถิ่นและนกอพยกว่า 100 ชนิด ที่ซึ่งเมื่อไหร่หากเรานั่งเรือลงไปกลางทะเลน้อยเราก็จะได้พบเห็นนกหลายชนิดที่หากินอยู่ตามธรรมชาติในระยะห่างออกไปไม่กี่เมตร ได้พบเห็นนกนานาชนิดที่ทำรังวางไข่อยู่ตามต้นไม้ใบหญ้า หรือแม้กระทั่งลานดินกว้างๆ ซึ่งหากนักท่องเที่ยวเดินโดยไม่ระมัดระวังก็มีโอกาสที่จะเหยียบทำลายไข่นกเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยเป็นที่ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาตินั้นจรดติดกับการใช้ประโยชน์ของมนุษย์แทบจะแยกจากกันไม่ออก เรียกว่าอยู่ในลักษณะหายใจรดต้นคอ อย่างเช่นจะพบว่า ในช่วงที่นกทำรังวางไข่อยู่นั้นก็ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งซึ่งยังไม่เข้าใจความเปราะบางของสัตว์นานาชนิด ซึ่งต้องการพื้นที่เพื่อขยายเผ่าพันธุ์เช่นเดียวกับมนุษย์
ผมจึงได้รับข่าวเศร้าอยู่บ่อยครั้งว่ามีบางคนไปแอบเก็บไข่นกมากิน ได้เห็นภาพสัตว์ป่าหลายชนิดต้องตายลงกลางเปลวเพลิงที่ไหม้ป่าพรุ และสถานการณ์ความเปราะบางต่อระบบนิเวศรอบพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยที่ผมยกตัวอย่างมาเพียงเล็กน้อยนั้น กำลังเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีช่องว่างจากกลไกการดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลากหลายอย่างมาช่วยหนุนเสริม ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ ความร่วมไม้ร่วมมือ ลำพังหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่จึงอาจไม่เพียงพอ เพราะการดูแลปกป้องธรรมชาติควรเป็นหน้าที่ของทุกคนบนโลกใบนี้ เพราะแต่ละคนกำลังใช้ประโยชน์จากธรรมชาติรอบตัวอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยก็คือการหายใจอากาศบริสุทธิ์
สำหรับมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ซึ่งผมและกัลยาณมิตร กำลังร่วมกันก่อตั้งในขณะนี้ เรายังต้องการแรงใจ แรงกาย พลังความคิดจากทุกท่านมาร่วมกันหนุนเสริมให้มูลนิธิเล็ก ๆ แห่งนี้ เป็นที่ซึ่งก่อให้เกิดการหลอมรวมความปราถนาดีที่จะร่วมกันดูแลธรรมชาติ ดูแลฝูงนกสัตว์ป่านานาชนิด ดูแลแมกไม้ สายลม เพื่อส่งต่อให้ผู้คนและลูกหลานในอนาคต ผมและเพื่อน ๆ ทำงานนี้ด้วยความสุขและเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม และยังเปิดกว้างสำหรับทุกท่านเสมอที่จะก้าวเข้ามาเดินเคียงข้างธรรมชาติร่วมกับพวกเรา
สนธยา แก้วขำ
จากพื้นที่ชุ่มน้ำอ่าวบ้านดอน ถึงพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย
ด้วยใจรักและศรัทธาต่อพลังธรรมชาติเสมอมาและตลอดไป
22 มิถุนายน 2563