“ต้องลองทำดู” “ต้องออกไปค้นหา” และ “ต้องเดินทาง”

โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าการเรียนรู้ที่เหมาะสมจะเกิดขึ้นในห้องเรียน ที่มีครูเป็นผู้สอน และนักเรียนเป็นผู้รับ เด็กนักเรียนหลายสิบคนนั่งฟังครูอย่างตั้งใจโดยไม่ขยับเขยื้อน สายตาจ้องอยู่ที่คุณครูและกระดานดำ…

แม่ตุ๊กเชื่อในการเรียนรู้อย่างอิสระ เรียนในสิ่งที่ชอบและสนใจ เพราะการขยับร่างกายมีผลต่อการเรียนรู้ของสมอง ความจริงคือมนุษย์เรียนรู้ตลอดเวลาและมีศักยภาพในการเรียนรู้ที่เท่ากันทุกคน

เด็กทารกเรียนรู้การดูดนมเพื่ออยู่รอด โตขึ้นมาเริ่มหัดคลาน หัดเดิน วิ่ง กระโดด ปีนป่าย เรียนรู้ว่าทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองเจ็บเด็กเรียนรู้ในแต่ละวัน จากสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เขาประสบรอบๆตัวแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนๆหนึ่งจะชอบอะไร

“ต้องลองทำดู” “ต้องออกไปค้นหา” และ “ต้องเดินทาง”

การศึกษาที่นักเรียนต้องนั่งอยู่ในห้องจึงไม่ใช่ทางเลือกสุดท้ายสำหรับแม่ตุ๊กแม่ตุ๊กเลือกพาลูกไปทะเลน้อยทุกครั้งที่มีโอกาสลูกได้มีโอกาสนั่งเรือ ฟังเสียงเครื่องเรือหางยาว เสียงลมที่กำลังพัดใส่หน้า ให้ตาได้สอดส่ายมองดูสิ่งรอบกาย ได้เห็นบัวที่กำลังลอยอยู่เหนือน้ำ นกน้ำกระพือปีกบินเมื่อได้ยินเสียงเรือแล่นไป ควายตัวใหญ่กำยำกำลังเดินลงน้ำเมื่อเราล่องเรือเข้าไปที่ควนขี้เสียน พื้นที่ Ramsar Site เราเห็นคนเลี้ยงควายกำลังต้อนฝูงควายลงน้ำไปกินหญ้า ควายมุดหัวลงไปในน้ำเพื่อดึงหญ้าขึ้นมากิน เราเห็นต้นไม้ที่มีหน้าตาแปลกประหลาด เห็นรังนกที่พ่อแม่กำลังป้อนอาหารให้ลูก ทุกคนบนเรือเงียบกริบ ไม่มีเสียงพูดคุย ด้วยตะลึงกับสิ่งที่กำลังเห็นอยู่ตรงหน้า

และความอยากรู้อยากเห็นก็ระเบิดออกมา
Why are there so many birds here mommy?
ทำไมที่นี่มีนกเยอะแยะไปหมดเลย
Where are those buffaloes going?
ควายพวกนั้นกำลังจะไปไหน
What are those buffaloes doing?
พวกมันกำลังทำอะไรกันอยู่
Can buffaloes really swim? They are so big.
ควายตัวใหญ่ว่ายน้ำได้ด้วยหรือ มันตัวใหญ่ขนาดนั้นน่ะ

และเมื่อลูกเริ่มถามคำถามเหล่านี้ การเรียนรู้ก็ตามมา…..

จินตนาการว่า ในอนาคตเราจะมีมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยเป็นศูนย์รวมด้านการเรียนรู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทั้งพืช สัตว์ และผู้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเราเชื่อว่าห้องเรียนที่ดีที่สุดสำหรับเยาวชนคือห้องเรียนธรรมชาติ เป็นห้องเรียนที่มีการเรียนรู้ไม่มีวันจบ

แม่ตุ๊กเชื่อว่าหลายๆคนคงเคยมาเที่ยวทะเลน้อยบ้างแล้ว อันที่จริง ที่นี่ไม่ได้มีแค่ควายน้ำ นกน้ำ หรือบัวสีสวยๆให้ชม แต่ทะเลน้อยยังมี ระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย ระบบการพึ่งพาอาศัยของสิ่งมีชีวิต คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไร? เพราะเหตุใดทะเลน้อยถูกตั้งให้เป็น Ramsar Site? ทำไมน้ำท่วมถึงดีต่อพื้นที่ชุ่มน้ำ? ถ้าน้ำไม่ท่วมธรรมชาติจะเสียสมดุลอย่างไร? และอีกหลากหลายคำถาม นี่เป็นสิ่งที่เยาวชนทุกคนควรได้เรียนรู้ ตั้งคำถาม และได้สัมผัส

แม่ตุ๊ก ในฐานะแม่ของเด็กโฮมสคูล 2 คนและคุณครูของเด็กๆ ได้มีโอกาสพาลูกๆเข้าไปในพื้นที่ Ramsar Site ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยอยู่บ่อยครั้ง ลูกๆได้เห็นและเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กคนอื่นๆไม่ค่อยได้สัมผัส และเราอยากให้ทุกๆคนได้มาเห็นแบบเราเช่นกันครูตุ๊กเลยอยากจะเชิญเพื่อนๆ พ่อแม่ของเด็กๆ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยกับพวกเรา โดยการบริจาคเงินสมทบทุนคนละเล็กน้อย ทุกบาททุกสตางค์ของท่านมีค่า เสมือนกับการลงทุนด้านการศึกษาของลูกๆ ไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของคนพัทลุง แต่เพื่อประโยชน์ในวงกว้างของคนทั้งโลก…

ครูตุ๊ก โรงเรียนบ้านดินพินรพี (D Center Phatthalung)